ศิลปะสร้างสรรค์
งานศิลปะสามารถสื่อความหมายเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างมากมาย ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “ ภาพหนึ่งภาพ มีความหมายมากกว่าคำพันคำ ” ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ ครูจะรู้ได้ว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้เพียงใดบ้างนั้น ต้องมีการประเมินผลหลังการเรียน การเลือกใช้งานศิลปะก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการสรุปบทเรียน หรือการเสนอแนะแนวทางการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียน เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาสมองของนักเรียน ซึ่งพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาไปพร้อมๆ กัน อันเป็นแนวทางในการพัฒนาสมองที่ดีที่สุด
กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ครั้งนี้เป็นกิจกรรมของนักเรียนชั้น ม .3 หลังจากการเรียนเรื่องการเคหะพยาบาลแล้วให้นักเรียนจัดทำแผ่นพับ คู่มือการดูแลผู้ป่วยในบ้าน ดังมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมดังนี้
ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
- ครูแจ้งให้นักเรียนเตรียมอุปกรณ์ในการทำงานล่วงหน้า คือ กระดาษขนาด A4 1 แผ่น ดินสอ ยางลบ ดินสอสี เพื่อเตรียมทำงานในชั้นเรียน
- นักเรียนจับคู่กันทำงาน นักเรียนเลือกเรื่องที่นักเรียนสนใจ 1 เรื่อง แล้วจัดทำแผ่นพับ คู่มือการดูแลผู้ป่วยในบ้าน จำนวน 1 แผ่น
- นักเรียนจัดทำเนื้อหาและตกแต่งแผ่นพับให้สวยงาม
ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับ
- นักเรียนสามารถถ่ายทอดความรู้ของตนเอง ผ่านงานศิลปะ
- เป็นการสรุปผลการเรียนรู้หลังการเรียน
- นักเรียนได้รับการพัฒนาทั้งด้านองค์ความรู้และจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- นักเรียนมีความสุขกับการเรียน เพลิดเพลินกับงานที่ทำ และภูมิใจกับความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้น
แนวทางในการจัดกิจกรรม
- การกำหนดหัวข้อในการทำกิจกรรม การเลือกกิจกรรมศิลปะนั้นสามารถนำมาใช้ในการสรุปบทเรียน การแสดงข้อคิด ข้อเสนอแนะของนักเรียน ตลอดจนความรู้ที่นักเรียนได้รับ กิจกรรมที่ให้นักเรียนปฏิบัติ ได้แก่ การทำแผ่นพับ การทำโปสเตอร์รณรงค์ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาใช้กับบทเรียนที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพวัยต่างๆ การรณรงค์ป้องกันการใช้สารเสพติด คู่มือการป้องกันโรค เป็นต้น
- การกำหนดวิธีการทำงานศิลปะ การทำกิจกรรมนี้สามารถทำได้เป็นกลุ่มและเป็นแบบบุคคล โดยการให้นักเรียนเตรียมอุปกรณ์มาให้พร้อม เช่น เลือกข้อมูล เนื้อหา กระดาษ และดินสอสี หรือถ้านักเรียนไม่ค่อยถนัดในเรื่องการวาดภาพ นักเรียนก็สามารถนำภาพที่วาดแล้ว หรือภาพตัดปะจากหนังสือต่างๆ มาตกแต่งแทนก็ได้ จะทำให้นักเรียนมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
- บทบาทของครูระหว่างการทำกิจกรรม ในการทำกิจกรรม ครูควรมีการกำหนดขั้นตอนและกำหนดเวลาในการทำงานของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักการวางแผนในการทำงาน รู้จักการแบ่งเวลา ครูจะช่วยบอกเวลา นักเรียนเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนทำงาน และขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนให้นักเรียนทำงานตามเวลาที่กำหนด
สรุปผลการจัดกิจกรรมและข้อเสนอแนะ
- กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักเรียนชอบมากเพราะนักเรียนได้ลงมือทำตามความถนัดและความสนใจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา นักเรียนก็ยังชอบในการทำงานศิลปะทั้งนั้น เพียงแต่ครูควรเลือกให้มีความยากง่าย แตกต่างกันตามระดับของอายุ ในเด็กเล็กการทำแผนผังความคิดจะทำได้ง่าย ให้นักเรียนตกแต่งสีสันให้สวยงาม ส่วนเด็กโตขึ้นมาในระดับประถมปลายหรือนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็จะทำโปสเตอร์ แผ่นเดียว ถ้าเป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 หรือ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาจให้ทำเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง เช่น แผ่นพับ หรือเป็นหนังสือเล่มน้อย เป็นต้น
- การทำงานในห้องเรียน ทำให้ครูสามารถ ประเมินกระบวนการทำงานของนักเรียนและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ชัดเจน นอกจากนี้นักเรียนสามารถประดิษฐ์ชิ้นงานด้วยตนเอง ถ้าสั่งงานให้นักเรียนทำที่บ้าน นักเรียนก็จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วย หรือให้ผู้อื่นๆ ช่วยทำให้ ไม่สามารถควบคุมได้ และครูต้องฝึกให้นักเรียนสามารถทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง
|