ครูรัตนาภรณ์   ลัธธนันท์  

 

สถิติ
เปิดเมื่อ2/02/2012
อัพเดท24/08/2023
ผู้เข้าชม348385
แสดงหน้า516671
เมนู
ปฎิทิน
March 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
     
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
      

เรียนรู้จากการอ่าน

อ่าน 3213 | ตอบ 0


เรียนรู้จากการอ่าน


 


 
                การรักการอ่านเป็นคุณลักษณะหนึ่ง                 ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน  จะมีคนพูดให้ฟังอยู่เสมอๆ ว่า เด็กไทยไม่ค่อยรักการอ่านหนังสือ  เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยมาก   ในการจัดการเรียนรู้  วิธีที่จะให้นักเรียนรู้จักการอ่านและรักการอ่านได้อย่างเต็มใจ   จะต้องมีกิจกรรมที่นักเรียนได้ฝึกอ่าน  ให้มากขึ้น  วิธีการจูงใจที่ให้นักเรียนอ่านต้องเป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจพอควร  ในบทเรียนนี้เป็นการสอนเรื่องโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในท้องถิ่น  มีข้อมูลของโรค    ที่ต้องสอนอยู่หลายเรื่อง การสอนแบบเดิมก็คือแบบบรรยาย  ครูต้องใช้เวลาสอนอยู่หลายชั่วโมง    ต้องเสียเวลาในการสอนมาก  นักเรียนก็จะเริ่มขาดความสนใจ  บ้างก็สับสนเพราะเนื้อหามาก  ครูจึงต้องหาวิธีใหม่ๆ ให้ประหยัดเวลาและเบาแรงในการสอน แต่มีคุณภาพในการเรียนรู้สูง  โดยการทำชุดการเรียนให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง  เรื่องโรคติดต่อที่ร้ายแรงจำนวน  7  เรื่อง  เรียนรู้เป็นแบบฐานการเรียนรู้หมุนเวียนกัน ใช้เวลาเรียน 2 ชั่วโมง
 
ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
ชั่วโมงที่ 1
  1. นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น 7  กลุ่ม  กำหนดหมายเลขกลุ่ม
  2. นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนการเรียนจำนวน 20 ข้อ ใช้เวลา 10 นาที
  3. นักเรียนสมาชิกในกลุ่มศึกษาจากชุดการเรียน โดยทำแบบทดสอบก่อนเรียน  การศึกษาเนื้อหา และการทำแบบทดสอบหลังการเรียน  บันทึกคะแนน  โดยใช้เวลาประมาณ               8  นาที
  4. เมื่อครบกำหนดเวลา ครูให้สัญญาณเวลา  นักเรียนเก็บเอกสารและส่งต่อให้เพื่อนหมุนเวียนกัน จากกลุ่มที่1 ไปกลุ่มที่ 2     กลุ่มที่ 2 ไปกลุ่มที่ 3  ตามลำดับจนครบ
  5. เมื่อหมดเวลาครูให้สัญญาณและนักเรียนทุกกลุ่ม  หมุนเวียนหนังสือกันอ่านจนครบ ทั้งหมด 4 เรื่อง
ชั่วโมงที่ 2
  1. นักเรียนศึกษาชุดการเรียนต่อ เรื่องที่ 5 -7  ตามเวลาที่กำหนด
  2. นักเรียนทำแบบทดสอบหลังการเรียน
  3. นักเรียนร่วมกันเฉลยคำตอบแบบทดสอบหลังการเรียน
  4. นักเรียนร่วมกันอภิปรายสรุป ครูช่วยเพิ่มเติมให้สมบูรณ์
 
ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับ
  1. นักเรียนศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง  และเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม
  2. นักเรียนสามารถศึกษาได้ตามความแตกต่างของแต่ละบุคคล
  3. นักเรียนฝึกทักษะการอ่าน
  4. เป็นการส่งเสริมการรักการอ่านให้กับนักเรียน
 
แนวทางการจัดกิจกรรม
  • การพัฒนาชุดการสอน  หลักการที่ใช้เป็นเรื่องง่ายๆ  เมื่อต้องการให้นักเรียนสนใจเรียน  ต้องพัฒนาบทเรียนให้น่าสนใจ  แบบเรียนแบบเดิมจะให้นักเรียนอ่านหนังสือเรียนเล่มโต  มีแต่ตัวหนังสือเต็มไปหมด เมื่ออ่านไปแล้ว ความสนใจในการอ่านของนักเรียนก็จะลดลง  ดังนั้นต้องพัฒนาชุดการสอนให้เป็นบทเรียนเล่มเล็กๆ  โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นเรื่องสั้นๆ       ใช้เวลาในการศึกษาแต่ละเรื่องประมาณ 8-10 นาที  มีหลายๆ เรื่องให้นักเรียนเลือกอ่าน  หมุนเวียนกันไป  โดยเลือกได้ตามความสมัครใจ หรือจัดเป็นฐานการเรียนรู้  แล้วหมุนเวียนกันศึกษาก็ได้  แต่ผลที่ได้สุดท้ายนักเรียนจะได้ศึกษาทุกๆ เรื่องเหมือนๆ กัน    หนังสือที่ใช้จะออกแบบให้น่าอ่าน  โดยใช้การ์ตูน  รูปภาพ  คำถามนำ  จะชักชวนให้ นักเรียนสนใจ  พร้อมการประเมินผลด้วยตนเองก่อนและหลังการเรียนด้วย
  •  การแบ่งกลุ่มนักเรียน   ในการจัดกลุ่มในชั้นเรียน อาจแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเก่ง  กลุ่มปานกลาง  และกลุ่มอ่อน  ให้อยู่ด้วยกัน ก็จะดูแลนักเรียนได้ง่ายขึ้น  นักเรียนกลุ่มเก่งมักจะมีความรับผิดชอบสูง ทำงานได้ด้วยตนเอง  จะใช้เวลาดูแลน้อย แต่ต้องเตรียมกิจกรรมเพิ่มเติมไว้ให้  ส่วนนักเรียนกลุ่มปานกลาง ต้องคอยกระตุ้นให้ทำกิจกรรมเป็นระยะๆ ได้   จะทำให้ครูมีเวลาใกล้ชิด  สามารถดูแลนักเรียนในกลุ่มอ่อนได้มากขึ้น และสามารถทำให้นักเรียนกลุ่มอ่อนทำความเข้าใจกับบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองตามศักยภาพของนักเรียน
  • บทบาทของครูระหว่างการทำกิจกรรม     ระหว่างนักเรียนทำกิจกรรมครูสามารถศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนได้อีกด้วย      การศึกษาพฤติกรรมระหว่างการอ่าน  จะทำให้ครูทราบพฤติกรรมการอ่านของแต่ละคน  บางคนอ่านอย่างตั้งใจ  บางคนอ่านแล้วมีการจดบันทึกร่วมด้วย  บางคนอ่านหนังสือได้เร็ว  บางคนอ่านหนังสือและทำความเข้าใจช้า  บางคนไม่ชอบอ่านหนังสือก็จะอ่านเร็วๆ แล้วก็ปิดหนังสือ  เมื่อศึกษาพฤติกรรมการอ่านแล้วครูจะทำอย่างไรได้บ้าง    นักเรียนที่อ่านหนังสือได้เร็วครูต้องมีกิจกรรมเสริมหรือมีคำถามให้นักเรียนตอบเป็นการประเมินผลใน เบื้องต้น  เมื่อจบบทเรียนควรมีการเสริมแรงนักเรียนด้วย   เช่น ประกาศว่าใครบ้างเป็นหนอนหนังสือชั้นยอด  ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนๆ
  • การแก้ปัญหานักเรียนที่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ  นักเรียนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ  เมื่ออ่านเร็วๆ  จบแล้วก็จะปิดหนังสือนั่งคุยกัน               ครูต้องช่วยกระตุ้นความสนใจ  โดยการตั้งคำถามให้ตอบ  ถ้านักเรียนตอบไม่ได้ก็จะแนะนำให้อ่านใหม่อีกครั้ง  มีคำตอบอยู่ตรงไหน นักเรียนก็จะต้องเปิดอ่านใหม่อีกครั้งเพื่อหาคำตอบ  เมื่อนักเรียนตอบได้ ครูก็จะเริ่มคำถามใหม่  ทำอย่างนี้หลายๆ ครั้งก็จะทำให้นักเรียนมีความรู้มากขึ้น  และนักเรียนไม่ว่างคุยกัน  รบกวนเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ด้วย
 
สรุปผลการจัดกิจกรรมและข้อเสนอแนะ
                1.  ผลจากการใช้ชุดการเรียน พบว่าชุดการเรียนใช้ได้ดีมาก  กับเด็กระดับปานกลางและเด็กที่เรียนอ่อนซึ่งสามารถศึกษาได้นานตามใจ  เมื่อหมดชั่วโมงแล้วสามารถขออนุญาตครูนำไปอ่านต่อนอกเวลาเรียนก็ได้  แต่สำหรับเด็กเก่งๆ  อ่านหนังสือบ่อยๆ  จะสามารถอ่านหนังสือได้จบอย่างรวดเร็ว  ครูต้องเตรียมกิจกรรมสำรองไว้ด้วย เช่น ใบงาน เกม หรือคำถามเพิ่มเติม   มิฉะนั้นนักเรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายขณะที่รอเพื่อนๆ อ่านหนังสือจบ
               2.  นักเรียนมีเจตคติที่ดีในการอ่านหนังสือ      เมื่อได้อ่านชุดการเรียนแล้ว  นักเรียนจะบอกว่าชอบมาก  อยากให้หนังสือเรียนน่าอ่านอย่างนี้ทุกวิชา หลังจากศึกษาความรู้จากชุดการเรียนแล้ว  นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้อีกครั้ง หรือ จัดกิจกรรมประเมินผลอีกครั้งก็เป็นอันจบกระบวนการในการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ 
               3.  นักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ต่างกัน  ครูต้องช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  ครูอย่าปล่อยให้นักเรียนอ่านไปตามลำพังใช้เวลาหมดไปทั้งชั่วโมงแล้วไม่รู้เรื่องเลย  การทำกิจกรรมนี้จะทำให้ห้องเรียนเริ่มมีนักอ่านเพิ่มขึ้นอีกหลายคน
               นอกบทเรียนเรื่องโรคแล้ว  ยังสามารถใช้ชุดการเรียนแบ่งเนื้อหา  ให้นักเรียนเรียนแตกต่างกันได้  ขอยกตัวอย่าง เช่น    แต่เดิมนักเรียนชั้น ม.1 เมื่อเริ่มเรียนเรื่องเพศศึกษา  ระบบสืบพันธุ์เพศชายและหญิง  นักเรียนหญิงจะมีความอาย  นักเรียนชายก็จะพูดเล่น  ล้อเลียนกัน  ทำให้นักเรียนหญิงไม่กล้าเรียน  ไม่กล้าถาม      ดังนั้นจึงปรับกิจกรรมการเรียนใหม่  โดยการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน คือ จัดทำชุดการเรียนเป็น 2 ชุด  คือ  เรื่องก่อนจะเป็นสาว  สำหรับนักเรียนหญิง  และเรื่องกว่าจะเป็นหนุ่ม สำหรับนักเรียนชาย     ให้นักเรียนแยกกลุ่มกันศึกษาเรื่องระบบสืบพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นชาย หญิง ตลอดจนการดูแลรักษาความสะอาดอวัยวะเพศของแต่ละเพศ   เมื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนแยกกันศึกษาตามกลุ่มเพศแล้ว  บรรยากาศในการเรียนดีขึ้น  นักเรียนเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น  หลังจากนั้นครูก็จะมาทบทวนความรู้ในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง  ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 
 
 
 
 
 

 
 
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :